2.1) ความหมายและลักษณะการผลิต
การผลิต หมายถึง การนำเอาปัจจัยการผลิตอันได้แก่ ที่ดิน ทุน แรงงาน
และความสามารถในการประกอบการมาผ่านกระบวนการอย่างใดอย่างหนึ่งภายใต้เทคโนโลยีระดับหนึ่ง
ผสมผสานกันเพื่อให้เกิดสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การผลิต
เป็นกระบวนการเพิ่มคุณค่าหรือประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (economic utility) ให้กับปัจจัยการผลิตต่างๆ
เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ตัวอย่างของการผลิต
ได้แก่ การนำข้าวเปลือกมาผ่านกระบวนการสีเป็นข้าวสาร การเอาด้ายมาทอเป็นผ้าผืน
การให้บริการทางการแพทย์ การศึกษา การขนส่ง ฯลฯ (นิชรัตน์
ราชบุรี, 2557)
จากที่กล่าวมาแล้ว
การผลิตจะต้องประกอบไปด้วยการทำให้เกิดสินค้าหรือบริการอย่างใด
อย่างหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า อรรถประโยชน์
โดยอาศัยแรงงานของมนุษย์ ทั้งกำลังกายและกำลังความคิด แรงงานของสัตว์
หรือเครื่องมือเครื่องจักรต่างๆ
2.2) ความหมายของการผลิตระยะสั้นและระยะยาว
ในทางเศรษฐศาสตร์แบ่งระยะเวลาที่ใช้ในการผลิตออกเป็น 2 ระยะ (นิชรัตน์ ราชบุรี, 2557)
1.
ระยะสั้น (short run) หมายถึงระยะเวลาซึ่งผู้ผลิตไม่สามารถจะเพิ่มหรือลดปัจจัยการผลิตคงที่ได้
จะเปลี่ยนแปลงได้เฉพาะปัจจัยผันแปรเท่านั้น
ผู้ผลิตจะต้องป้อนปัจจัยผันแปรให้พอเหมาะเต็มกำลังของปัจจัยคงที่ที่มีอยู่เพื่อให้ต้นทุนการผลิตต่ำที่สุด
เพื่อผู้ผลิตจะได้รับกำไรสูงสุด
2.
ระยะยาว (long run) หมายถึงระยะเวลาที่ปัจจัยการผลิตทุกประเภทสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้
ปัจจัยการผลิตซึ่งเคยเป็นปัจจัยคงที่ในระยะสั้นสำหรับในระยะยาวแล้วปัจจัยเหล่านี้
จะสามารถแปรเปลี่ยนไปได้ นั่นคือ
ในระยะยาวปัจจัยทุกประเภทจะเป็นปัจจัยผันแปรทั้งหมด
จากที่กล่าวมา เราไม่สามารถจะชี้ชัดลงไปได้ว่าระยะเวลานานเท่าใดจึงจะเป็นการผลิตในระยะสั้น
หรือระยะเวลานานเท่าไรจึงจะเป็นการผลิตในระยะยาว
ดังนั้นการแบ่งระยะเวลาที่ใช้ในการผลิต
ในทางเศรษฐศาสตร์จึงไม่ได้ใช้ระยะเวลาเป็นเกณฑ์
หลักเกณฑ์ที่ใช้ก็คือประเภทของปัจจัยการผลิตที่ใช้ในการผลิต กล่าวคือ ถ้าการผลิตดังกล่าวมีปัจจัยบางประเภทเป็นปัจจัยคงที่
การผลิตนั้นก็จะเป็นการผลิตในระยะสั้น
แต่ถ้าปัจจัยการผลิตนั้นเป็นปัจจัยผันแปรทั้งหมด การผลิตนั้นก็จะเป็นการผลิต
ในระยะยาว เนื่องจากในระยะสั้นมีทั้งปัจจัยคงที่และปัจจัยผันแปร
ดังนั้นต้นทุนการผลิตก็จะมีทั้งต้นทุน คงที่และต้นทุนผันแปร
ส่วนในระยะยาวก็จะมีแต่ต้นทุนผันแปร เนื่องจากมีแต่ปัจจัยผันแปรเท่านั้น
2.3) ปัจจัยการผลิต
ปัจจัยการผลิต (factors of production) หมายถึง
สิ่งต่างๆ ที่ผู้ผลิตนำมาผ่านกระบวนการผลิต
ขึ้นเป็นสินค้าหรือบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ในทางเศรษฐศาสตร์เราแบ่งปัจจัยการผลิตออกเป็น
4 ชนิด (นิชรัตน์ ราชบุรี, 2557) คือ
1.
ที่ดิน (land) ซึ่งรวมถึงทรัพยากรธรรมชาติทุกประเภท
ได้แก่ ที่ดิน ป่าไม้ น้ำ แร่ธาตุ ฯลฯ ทั้งที่อยู่บนดินและอยู่ใต้ดิน
ที่ดินมีลักษณะที่ต่างไปจากปัจจัยการผลิตอื่นๆ คือ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
เคลื่อนย้ายไม่ได้ มีปริมาณจำกัด
2.
แรงงาน (labor) หรือทรัพยากรมนุษย์
หมายถึงผู้ที่ทำงานให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจในการผลิตสินค้าหรือบริการ
โดยอาศัยทั้งกำลังแรงกายและกำลังความคิด แต่ไม่รวมในด้าน
ของความสามารถในการประกอบการของแต่ละบุคคล ในทางเศรษฐศาสตร์
การใช้แรงงานจะต้องเป็น
การใช้แรงงานที่ได้รับค่าตอบแทนเป็นตัวเงินหรือสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น
ส่วนแรงงานที่ไม่ได้รับผลตอบแทนจะไม่ถือว่าเป็นแรงงานตามความหมายนี้
แรงงานหรือที่นิยมเรียกกันว่า กำลังแรงงาน (labor force) ในอีกความหมายหนึ่งก็คือกลุ่มคนที่อยู่ในวัยทำงานที่มีอายุตั้งแต่
11 ปีขึ้นไป ซึ่งพร้อม
และเต็มใจที่จะทำงานไม่ว่าจะมีงานให้ทำหรือไม่ก็ตาม แบ่งออกเป็น แรงงานที่มีทักษะ
(skilled labor) ซึ่งเป็นแรงงานที่ได้รับการฝึกฝนอบรมมาเป็นอย่างดี
เช่น แพทย์ วิศวกร สถาปนิก ฯลฯ กับ แรงงานที่ไม่มีทักษะ (unskilled labor) ซึ่งเป็นแรงงานที่ไม่ได้รับการฝึกฝนอบรมมาก่อน ส่วนใหญ่เป็นแรงงาน
ที่ใช้กำลังกายเป็นหลัก เช่น กรรมกรแบกหาม คนงานรับจ้างทั่วไป ฯลฯ
3.
ทุน (capital) คือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อใช้อำนวยความสะดวกในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ
หรือทุนคือการสะสมสินค้าในรูปของเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์การผลิตต่างๆ
ทุนในทางเศรษฐศาสตร์จะหมายถึงสินค้าประเภททุน ซึ่งจัดเป็นทุนที่แท้จริง (real
capital) โดยไม่นับรวมเงินทุนซึ่งเป็นทุนที่เป็นตัวเงิน (money
capital) เข้าไว้ในความหมายดังกล่าว โดยทั่วไปทุนแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
3.1 ทุนถาวร (fixed capital) คืออุปกรณ์การผลิต
เครื่องจักร เครื่องมือที่มีความคงทน ถาวร มีอายุการใช้งานยาวนาน เช่น โรงงาน ถนน
สะพาน ทางรถไฟ เป็นต้น
3.2 ทุนดำเนินงาน (working capital) คือทุนประเภทวัตถุดิบต่างๆ
ซึ่งมีอายุการใช้งาน ค่อนข้างสั้น เป็นสิ่งที่ใช้แล้วหมดไป
ต้องหามาทดแทนใหม่อยู่ตลอดเวลา เช่นน้ำมัน ไม้ ยาง เหล็ก เป็นต้น
บางครั้งเรียกทุนประเภทนี้ว่าทุนหมุนเวียน (circulating capital)
3.3 ทุนสังคม (social capital) เป็นทุนที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในการผลิตโดยตรง
เป็นตัว ช่วยเสริมให้การใช้ทุนทั้งสองประเภทข้างต้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น
สวนสาธารณะ โรงเรียน โรงพยาบาล สนามกีฬา สระว่ายน้ำ
เหล่านี้ล้วนเป็นทุนของประเทศโดยส่วนรวม มีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยอ้อม
คือ ช่วยให้ความรู้ การรักษาสุขภาพอนามัย การพัฒนาในเรื่องของคุณภาพชีวิตของบุคคลที่อยู่ในสังคม
4.
ความสามารถในการประกอบการ (entrepreneurship) หมายถึงความสามารถในการดำเนินการวางแผน
จัดการทางด้านธุรกิจการผลิตภายใต้ความเสี่ยงในระดับต่างๆ ผู้ประกอบการ (entrepreneur)
จะเป็นผู้รวบรวมปัจจัยการผลิตต่างๆ เพื่อทำการผลิตขึ้นเป็นสินค้าหรือบริการ
และเป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจว่าจะผลิตอะไร อย่างไร
และเพื่อใคร
2.4) การแบ่งช่วงการผลิต
แบ่งช่วงของการผลิตออกได้เป็น 3 ช่วงด้วยกัน (นิชรัตน์
ราชบุรี, 2557) คือ
ช่วงที่ 1 เป็นการเริ่มแรกของปัจจัยแปรผันที่เพิ่มขึ้นทีละหนึ่งหน่วย
ซึ่งในการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในช่วงนี้ผลผลิตโดยรวมนั้นจะมีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
สืบเนื่องมาจากการปัจจัยที่ใช้ในการผลิตคือ ปัจจัยคงที่
และปัจจัยแปรผันนั้นยังคงที่จะได้สัดส่วน หรือมีความสมดุลย์กัน
โดยเราเรียกช่วงนี้ว่า (Increasing Return)
ช่วงที่ 2 เป็นจุดต่อจากช่วงปลายของช่วงที่ 1 ซึ่งเราเรียกกันว่า จุดเปลี่ยนโค้ง
ซึ่งในการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในระยะนี้จะมีการเพิ่มขึ้นอย่างช้า
ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากเกิดความไม่สมดุลย์กันระหว่างการใช้ปัจจัยคงที่
และปัจจัยแปรผัน และผลผลิตนั้นก็จะเพิ่มขึ้นอย่างเรื่อยๆ ไปจนถึงจุดที่สูงสุด
โดยเราเรียกช่วงนี้ว่า (Diminishing Return)
ช่วงที่ 3 เป็นจุดที่ต่อจากช่วงปลายของช่วงที่ 2 ซึ่งเป็นจุดที่ต่อจากจุดสูงสุด
โดยผลผลิตที่เกิดขึ้นในช่วงนี้จะเริ่มมีปริมาณที่ลดลง
ทั้งนี้เนื่องมาจากเกิดความไม่สมดุลย์กันระหว่างการใช้ปัจจัยคงที่ และปัจจัยแปรผัน
ที่เกินข้อจำกัดของเทคนิคที่ใช้ในการผลิต
ซึ่งจะส่งผลให้ผลผลิตที่เกิดขึ้นนั้นมีปริมาณที่ลดลง โดยเราเรียกช่วงนี้ว่า (Decreasing
Return)
2.5) ทฤษฎีการผลิตระยะยาว
ช่วงเวลาที่ผู้ผลิตสามารถเปลี่ยนแปลงปริมาณของปัจจัยการผลิตทุกอย่างให้มีจำนวนตามที่ต้องการได้
หรือกล่าวคือ เปลี่ยนจากปัจจัยคงที่ให้เป็นปัจจัยแปรผัน
โดยกล่าวได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงขนาดของการผลิต (Scale of Production) เช่นโรงงานก็สามารถที่จะเปลี่ยนขนาดได้
ซึ่งในการผลิตในระยะยาวนี้จะไม่มีปัจจัยคงที่เหลืออยู่ โดยมีแค่ปัจจัยแปรผันเหลืออยู่เท่านั้น
(Variable Factors) (นิชรัตน์ ราชบุรี, 2557)
2.6) ดุลยภาพการผลิต
ดุลยภาพการผลิต หมายถึง ภาวะที่เกิดจากราคามีความเหมาะสม
ทำให้ปริมาณความต้องการซื้อ เท่ากับปริมาณความต้องการขาย ทำให้สินค้าหมดพอดี
หรือมีหลักการดังนี้ คือ ราคาสินค้าจะวิ่งสู่ดุลยภาพเสมอ
ถ้าราคาเปลี่ยนปริมาณที่ผู้บริโภคต้องการที่จะซื้อและที่ผู้ผลิตที่ต้องการขายก็จะเปลี่ยนตาม
ถ้าราคาสินค้าแพงเกินไป ต่อไปต้องลดลง ถ้าราคาสินค้าถูกเกินไป
ต่อไปต้องแพงขึ้นโดยกลไกราคา ในทางเศรษฐศาสตร์นั้นจะมีข้อยกเว้นในการพิจารณา คือ
ใช้ไม่ได้กับสินค้าที่เป็นทรัพย์เสรี และสินค้าที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของเก่า เช่น
ถ้วยสังคโลก,รถเก่า,พระเครื่อง
และวัตถุโบราณ หรือทรัพย์เสรี ได้แก่ น้ำ ดิน เป็นต้นฯ (นิชรัตน์
ราชบุรี, 2557)
2.7) ความหมายและความสำคัญของการบริโภค
การบริโภค (Consumption) หมายถึง มนุษย์ก็เช่นเดียวกับสัตว์โลกโดยทั่วไป
ที่มีความหิว และความต้องการ
แต่มนุษย์จะระงับความหิวและความต้องการนั้นด้วยการอุปโภคและบริโภคสินค้าและบริการที่มนุษย์นั้นเองเป็นผู้ผลิตขึ้น
(กรมสรรพากร, 2558)
เราทราบว่าอุปสงค์หรือความต้องการที่มีต่อสินค้าและบริการมีได้ทั้งที่เป็นอุปสงค์ต่อสินค้าและบริการขั้นสุดท้าย
(final demand) และอุปสงค์ต่อสินค้าและบริการขั้นกลาง (intermediate
demand) การบริโภคจัดเป็นอุปสงค์ที่มีต่อสินค้าและบริการในขั้นสุดท้าย
สินค้าดังกล่าวเรียกว่าสินค้าบริโภค (consumer goods) ซึ่งมีทั้งที่เป็นสินค้าคงทน
เช่น รถยนต์ ทีวี วิทยุ ฯลฯ และที่เป็นสินค้าไม่คงทนหรือเสียง่าย เช่น เนื้อสัตว์
พืชผัก ผลไม้ ฯลฯ
2.8) ลักษณะทั่วไปของผู้บริโภค
ลักษณะทั่วไปของผู้บริโภค ได้แก่ (กรมสรรพากร,
2558)
1.
สิ่งเร้า (stimuli) ในทางการตลาดนั้น
เราแบ่งสิ่งเร้าออกเป็น 2 ประเภท คือ
สิ่งเร้าทางการตลาดกับสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ทางการตลาด
ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจและพฤติกรรมของผู้บริโภค
สิ่งเร้าทางการตลาด ได้แก่ สิ่งที่เราเรียกว่า ส่วนประสมทางการตลาดหรือ 4'Ps
อันได้แก่ผลิตภัณฑ์ ราคา
ช่องทางการจัดจำหน่ายและการส่งเสริมการตลาดนั่นเอง
สิ่งแวดล้อมอื่นๆ ทางการตลาด ที่อยู่อยู่ล้อมรอบผู้บริโภคได้แก่ เศรษฐกิจ
เทคโนโลยี สังคม การเมือง/ กฎหมาย และวัฒนธรรม
ซึ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค
สิ่งเร้าเหล่านี้นับเป็นตัวนำเข้าหรือ input ที่จะเข้าไปยังกล่องดำของผู้บริโภค
และส่งผลให้มีการตอบสนองออกมาเป็น output
2.
กล่องดำ (black box) คำคำนี้เป็นนามธรรม
โดยสมมติว่ากล่องดำเป็นที่รวมเอาปัจจัยต่างๆ ที่ว่านี้ได้แก่ วัฒนธรรม สังคม
ลักษณะ ส่วนบุคคล และลักษณะทางจิตวิทยาของผู้บริโภคแต่ละคนเอาไว้
นอกไปจากนี้ในกล่องดำยังมีกระบวนการตัดสินใจซื้ออยู่อีกด้วย สิ่งเร้าเมื่อมาถึงกล่องดำจะถูกปัจจัยต่างๆ
ดังกล่าวตกแต่งขัดเกลาแปรรูปออกมาเป็นการตอบสนอง ถ้าการตอบสนองเป็นไปในทางบวก
กระบวนการตัดสินใจซื้อทำงาน จนกระทั่งมีการซื้อเกิดขึ้นตามมา
ถ้าตอบสนองเป็นไปในทางลบ ผู้บริโภคคงไม่ลงมือซื้อ
3.
การตอบสนอง (response) เป็นผลลัพธ์จากอิทธิพลของปัจจัยและกลไกการทำงานของกระบวนการตัดสินใจซื้อที่อยู่ในกล่องดำของผู้บริโภค
ถ้าการตอบสนองเป็นไปในทางบวก จะสังเกตเห็นผู้บริโภคไปเลือกผลิตภัณฑ์ที่จะซื้อ
เลือกตราผลิตภัณฑ์ที่จะซื้อเลือกร้านค้าที่จะซื้อ เลือกจังหวะเวลาที่จะซื้อ
และเลือกจำนวนที่จะซื้อ เป็นต้น
2.9) ปัจจัยที่มีผลต่อการบริโภคและผลของการบริโภค
ปัจจัยทางวัฒนธรรม (cultural factors) เป็นปัจจัยที่อิทธิพลออกที่กระทบต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคได้กว้างขวางที่สุด
ลึกล้ำที่สุด ซึ่งแบ่งย่อยออกเป็นวัฒนธรรมหลัก (core culture) แล้วก็อนุวัฒนธรรม (subculture) และชั้นทางสังคม (social
class) (นิชรัตน์ ราชบุรี, 2557)
วัฒนธรรมหลัก เป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกกลุ่มหรือในทุกสังคมของมนุษย์
และเป็นตัวก่อให้เกิดค่านิยม การรับรู้ ความอยากได้ ไปจนถึงพฤติกรรมของมนุษย์
สิ่งเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ถ่ายทอดให้แก่กันและกันมา
และด้วยเหตุที่แต่ละสังคมก็มีวัฒนธรรมหลักเป็นของตนเอง
ผลก็คือพฤติกรรมการซื้อของมนุษย์ในแต่ละสังคมก็จะผิดแผกแตกต่างกันไป
อนุวัฒนธรรม หมายถึง
วัฒนธรรมของคนกลุ่มย่อยที่รวมกันเข้าเป็นสังคมกลุ่มใหญ่ จำแนกอนุวัฒนธรรมออกเป็น 4 ลักษณะ คือ
1.
อนุวัฒนธรรมทางเชื้อชาติ (ethnic subculture)
2.
อนุวัฒนธรรมตามท้องถิ่น (regional subculture)
3.
อนุวัฒนธรรมทางอายุ (age subculture)
4.
อนุวัฒนธรรมทางอาชีพ (occupational subculture)
2.10) ทฤษฎีพฤติกรรมของผู้บริโภค
พฤติกรรมผู้บริโภค เป็นการศึกษาปัจเจกบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์การ
และกระบวนการที่พวกเขาเหล่านั้นใช้เลือกสรร รักษา และกำจัด
สิ่งที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ บริการ ประสบการณ์ หรือแนวคิด
เพื่อสนองความต้องการและผลกระทบที่กระบวนการเหล่านี้มีต่อผู้บริโภคและสังคมพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นการสมผสานจิตวิทยา
(นิชรัตน์ ราชบุรี, 2557)
สังคมวิทยา มานุษยวิทยาสังคม และเศรษฐศาสตร์
เพื่อพยายามทำความเข้าใจกระบวนการการตัดสินของผู้ซื้อ
ทั้งปัจเจกบุคคลและกลุ่มบุคคล
พฤติกรรมผู้บริโภคศึกษาลักษณะเฉพาะของผู้บริโภคปัจเจกชน อาทิ
ลักษณะทางประชากรศาสตร์และตัวแปรเชิงพฤติกรรม เพื่อพยายามทำความเข้าใจความต้องการของประชาชน
พฤติกรรมผู้บริโภคโดยทั่วไปก็ยังพยายามประเมินสิ่งที่มีอิทธิพลต่อผู้บริโภคโดยกลุ่มบุคคลเช่นครอบครัว
มิตรสหาย กลุ่มอ้างอิง และสังคมแวดล้อมด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภค (Consumer
Behavior) หมายถึง การแสดงออกของแต่ละบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้สินค้าและบริกรทางเศรษฐกิจ
รวมทั้งกระบวนการในการตัดสินใจที่มีผลต่อการแสดงออก
พฤติกรรมผู้บริโภค (Consumer Behavior) หมายถึง
พฤติกรรมซึ่งผู้บริโภคทำการค้นหา
การซื้อ การใช้ การประเมินผล การใช้สอยผลิตภัณฑ์ และการบริการ
ซึ่งคาดว่าจะสนองความต้องการของเขา (Schiffman and Kanuk, 1994)
Engel
และผู้ร่วมงาน (1968) ให้ความหมายของพฤติกรรมผู้บริโภคว่า
เป็นการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการได้รับและการใช้สินค้าและบริการ
รวมไปถึงกระบวนการตัดสินใจที่มีอยู่ก่อนและมีส่วนในการกําหนดให้มีการกระทำดังกล่าว
ชิฟแมน และคะนุค (Schiffman and Kanuk, 1987) ได้ให้ความหมายของพฤติกรรมของผู้บริโภคไว้ว่าเป็นพฤติกรรมที่ผู้บริโภคแสดงออกไม่ว่าจะเป็นการเสาะหา
ซื้อ ใช้ ประเมินผล หรือการบริโภคผลิตภัณฑ์ บริการ และแนวคิดต่างๆ
ซึ่งผู้บริโภคคาดว่าจะสามารถตอบสนองความต้องการของตนได้เป็นการศึกษาการตัดสินใจของผู้บริโภคในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่
ทั้งเงิน เวลา และกําลังเพื่อบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ อันประกอบด้วย ซื้ออะไร
ทำไมจึงซื้อ ซื้อเมื่อไร อย่างไร ที่ไหน และบ่อยแค่ไหน
แองเจิล คอลแลต และแบลคเวลล์ (Engel Kollat and Blackwell, 1968) ได้ให้ความหมายของพฤติกรรมผู้บริโภคว่า หมายถึง
การกระทำของบุคคลใดบุคคลหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดหาให้ได้มาและการใช้ซึ่งสินค้าและบริการ
ทั้งนี้หมายรวมถึง กระบวนการตัดสินใจซึ่งมีมาอยู่ก่อนแล้ว
และซึ่งมีส่วนในการกําหนดให้มีการกระทำดังกล่าว
ศิริวรรณ เสรีรัตน์และคณะ (2541: 124 – 125) อ้างอิงจาก
Kotler, Philip. (1999). Marketing Management ได้ให้ความหมายของพฤติกรรมผู้บริโภค
(Consumer behavior) หมายถึง
การกระทำของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดหาให้ได้มาแล้วซึ่งการใช้สินค้าและบริการ
ทั้งนี้หมายรวมถึง กระบวนการตัดสินใจ
และการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวกับการซื้อและการใช้สินค้า
กล่าวโดยสรุปว่าพฤติกรรมของผู้บริโภค (Consumer Behavior) หมายถึง
การแสดงออกของแต่ละบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้สินค้าและบริการทางเศรษฐกิจ
รวมไปถึงกระบวนการในการตัดสินใจที่มีผลต่อการแสดงออกของแต่ละบุคคล
ซึ่งมีความแตกต่างกันออกไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น